วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1963 เป็นวันที่ทั้งจอห์น เอฟ.เคนเนดี้ประธานาธิบดีสหรัฐ อัลดัส ฮักซ์ลีย์นักปรัชญาและนักเขียน และซี.เอส.ลูอิส ผู้ปกป้องความเชื่อคริสเตียนต่างสิ้นชีวิตลง ชายผู้มีชื่อเสียงทั้งสามมีโลกทัศน์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฮักซ์ลีย์ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าแต่ก็ได้ทดลองไสยศาสตร์ของโลกตะวันออก เคนเนดี้แม้จะเป็นคาทอลิกแต่ก็ยึดหลักปรัชญามนุษยนิยม ส่วนลูอิสเคยไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า แต่กลับใจมาเป็นคริสเตียนในนิกายแองกลิกันและกลายเป็นผู้เชื่อฝีปากกล้าในพระเยซู ความตายไม่ไว้หน้าผู้ใด ดูได้จากการที่ชายผู้มีชื่อเสียงทั้งสามคนนี้ต้องเผชิญกับความตายในวันเดียวกัน
พระคัมภีร์กล่าวว่าความตายเข้ามาในชีวิตมนุษย์เมื่ออาดัมและเอวาไม่เชื่อฟังในสวนเอเดน (ปฐก.3) นี่เป็นความจริงอันน่าเศร้าที่ทิ้งร่องรอยไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ความตายเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนเสมอภาคกัน หรืออย่างที่ใครคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า ความตายคือการนัดหมายที่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ นี่คือสาระสำคัญของ ฮีบรู 9:27 ที่ว่า “มีข้อกำหนดสำหรับมนุษย์ไว้แล้วว่าจะตายครั้งเดียว และหลังจากนั้นก็จะมีการพิพากษา”
เราจะพบความหวังในเรื่องการนัดหมายกับความตายของตัวเราและสิ่งที่จะตามมาหลังความตายนั้นได้ที่ไหน คำตอบคือในพระคริสต์ โรม 6:23 อธิบายความจริงนี้ไว้อย่างสมบูรณ์ว่า “เพราะว่าค่าจ้างของความบาปคือความตาย แต่ของประทานจากพระเจ้าคือชีวิตนิรันดร์ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” เราจะได้รับของประทานนี้จากพระเจ้าได้อย่างไร พระเยซูพระบุตรของพระเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพื่อกำจัดความตายและทรงฟื้นคืนพระชนม์เพื่อประทานชีวิตนิรันดร์แก่เรา (2 ทธ.1:10)
จอร์จกำลังทำงานก่อสร้างท่ามกลางความร้อนระอุจากดวงอาทิตย์ในหน้าร้อนของรัฐแคโรไลน่าขณะที่เพื่อนบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกนั้นเดินเข้ามาในพื้นที่ที่เขาทำงานอยู่ ชายคนนั้นเริ่มก่นด่าและวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับโครงการ รวมทั้งวิธีการดำเนินงานด้วยความโกรธอย่างเห็นได้ชัด จอร์จรับฟังคำวิจารณ์เหล่านั้นโดยไม่ตอบโต้จนกระทั่งเพื่อนบ้านที่โกรธเกรี้ยวหยุดตะโกนใส่เขา จากนั้นเขาก็ตอบอย่างสุภาพว่า “วันนี้คุณคงเจออะไรแย่ๆมาใช่ไหมครับ” ใบหน้าของเพื่อนบ้านที่กำลังโกรธขึ้งพลันอ่อนลง เขาก้มศีรษะและพูดว่า “ผมขอโทษที่พูดกับคุณไม่ดี” ความเมตตาของจอร์จได้ช่วยบรรเทาความโกรธเกรี้ยวของเพื่อนบ้าน
มีหลายครั้งที่เราอยากจะตอบโต้คนที่ดูถูกและทำไม่ดีกับเราแบบตาแทนตาฟันแทนฟัน แต่จอร์จทำสิ่งที่ตรงกันข้ามคือแสดงความเมตตา ซึ่งเราได้เห็นความเมตตาอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดจากการที่พระเยซูต้องรับผลของบาปที่เราทำ “เมื่อเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์ พระองค์ไม่ได้ทรงกล่าวตอบเขาด้วยคำหยาบคายเลย เมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ พระองค์ไม่ได้ทรงมาดร้าย แต่ทรงมอบเรื่องของพระองค์ไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม” (1 ปต.2:23)
เราทุกคนจะมีช่วงเวลาที่ถูกเข้าใจผิด ถูกใส่ความ หรือถูกโจมตี เราอาจจะอยากตอบโต้ แต่พระเยซูเรียกร้องให้เราแสดงความเมตตา แสวงหาสันติสุข และแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น โดยความช่วยเหลือจากพระเจ้าในวันนี้ พระองค์อาจจะใช้เราเพื่ออวยพรคนที่กำลังเผชิญกับวันที่ยากลำบากก็เป็นได้
เรามีสมุหนามหรือคำที่ใช้สำหรับเรียกกลุ่มของสัตว์ประเภทต่างๆที่อยู่รวมกัน เช่น ฝูงแกะ และ โขลงช้าง หรือสำหรับดอกไม้ เช่น ช่อกุหลาบ หรือผลไม้ เช่น เครือกล้วย พวงองุ่น
อันที่จริงในพระคัมภีร์ ตึก เป็นหนึ่งในคำที่ใช้สำหรับเรียกผู้เชื่อในพระเยซู อัครทูตเปาโลกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย...เป็นตึกของพระองค์” (1 คร.3:9) และยังมีคำเรียกอื่นๆสำหรับผู้เชื่อด้วย เช่น “ฝูงแกะ” (กจ.20:28) “กายของพระคริสต์” (1 คร.12:27) “พี่น้องทั้งหลาย” (1 ธส.2:14) และอื่นๆ
การใช้คำอุปมาเรื่องสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นอีกครั้งใน 1 เปโตร 2:5 ตามที่เปโตรกล่าวกับคริสตจักรว่า “ท่านทั้งหลายก็เสมือนศิลาที่มีชีวิต ที่กำลังก่อขึ้นเป็นพระนิเวศฝ่ายพระวิญญาณ” จากนั้นในข้อ 6 เปโตรอ้างอิงอิสยาห์ 28:16 ว่า “ดูก่อน เราวางศิลาก้อนหนึ่งลงในศิโยน เป็นศิลาหัวมุมที่ทรงเลือกแล้ว และเป็นศิลาที่มีค่าอันประเสริฐ” พระเยซูทรงเป็นรากฐานของสิ่งก่อสร้างของพระองค์
เราอาจมีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเราในการสร้างคริสตจักร แต่พระเยซูตรัสว่า “เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้” (มธ.16:18) เราได้รับการทรงเลือกจากพระเจ้าให้ “ประกาศพระบารมีของพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกมาจากความมืด เข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์” (1 ปต.2:9) เมื่อเราประกาศพระบารมีเหล่านั้น เราก็ได้กลายเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ที่พระองค์จะทรงกระทำกิจอันประเสริฐของพระองค์
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1955 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ หลังจากนั้นไม่นานสหภาพโซเวียตก็ประกาศแผนที่จะทำเช่นเดียวกัน การแข่งขันด้านอวกาศได้เริ่มต้นขึ้น โซเวียตส่งดาวเทียมดวงแรก (สปุตนิก) ขึ้นสู่อวกาศ และได้ส่งมนุษย์คนแรกคือ ยูริ กาการิน ขึ้นไปโคจรรอบโลกหนึ่งรอบ การแข่งขันดำเนินต่อไปจนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 “ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ” คือนีล อาร์มสตรองบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ทำให้การแข่งขันยุติลงอย่างไม่เป็นทางการ ต่อมาไม่นานฤดูกาลแห่งความร่วมมือได้เริ่มต้นขึ้นและนำไปสู่การสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ
บางครั้งการแข่งขันก็มีข้อดีที่ผลักดันเราให้บรรลุสิ่งต่างๆที่เราอาจไม่เคยทำมาก่อน อย่างไรก็ตามในบางครั้งการแข่งขันก็เป็นอันตราย นี่เป็นปัญหาของคริสตจักรในเมืองโครินธ์เมื่อกลุ่มต่างๆยึดเอาพวกผู้นำคริสตจักรเป็นความหวังของพวกเขา เปาโลพยายามกล่าวถึงเรื่องนี้เมื่อท่านเขียนว่า “คนที่ปลูกและคนที่รดน้ำไม่สำคัญอะไร แต่พระเจ้าผู้ทรงโปรดให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ” (1คร.3:7) และสรุปไว้ว่า “เพราะว่าเราทั้งหลายร่วมกันทำงาน” (ข้อ 9)
พวกเราเป็นเพื่อนร่วมงานกันไม่ใช่คู่แข่ง และไม่ได้มีเฉพาะพวกเรากันเองเท่านั้น แต่ร่วมกับพระเจ้าด้วย โดยการทรงเสริมกำลังและการทรงนำของพระองค์ เราสามารถรับใช้ร่วมกันในฐานะเพื่อนร่วมงานเพื่อเผยแพร่ข่าวประเสริฐของพระเยซู เพื่อถวายพระเกียรติที่เป็นของพระองค์ไม่ใช่ของตัวเราเอง
เมื่ออาชญากรถูกจับกุมตัว พนักงานสอบสวนได้ถามผู้กระทำผิดว่าเหตุใดเขาจึงทำร้ายผู้อื่นอย่างโจ่งแจ้งท่ามกลางพยานมากมาย คำตอบนั้นน่าตกใจ “ผมรู้ว่าคนเหล่านั้นจะไม่ทำอะไรหรอก เพราะพวกเขาไม่เคยทำเลย” คำให้การนั้นแสดงถึงภาพของสิ่งที่เรียกว่า “การรู้เห็นต่อการกระทำผิด” หรือการเลือกที่จะเพิกเฉยต่ออาชญากรรมแม้คุณจะรู้ว่าสิ่งนั้นกำลังจะเกิดขึ้น
อัครทูตยากอบกล่าวถึงการรู้เห็นต่อการกระทำผิดอีกแบบที่คล้ายกัน โดยบอกว่า “เหตุฉะนั้นผู้ใดรู้ว่าอะไรเป็นความดีและไม่ได้กระทำ คนนั้นจึงมีบาป” (ยก.4:17)
โดยความรอดอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ประทานแก่เรานั้น พระเจ้าได้ทรงสร้างเราให้เป็นตัวแทนของความดีในโลก เอเฟซัส 2:10 ยืนยันว่า “เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ประกอบการดี ซึ่งพระเจ้าได้ทรงดำริไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เรากระทำ” การดีนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เราได้รับความรอด แต่เป็นผลจากการที่หัวใจของเราได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตในชีวิตของเรา พระวิญญาณยังประทานของประทานฝ่ายวิญญาณแก่เรา เพื่อเตรียมเราให้ทำสิ่งเหล่านั้นที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นใหม่ในเราให้สำเร็จ (ดู 1 คร.12:1-11)
ในฐานะฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า ให้เรายอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระองค์และรับการเสริมกำลังจากองค์พระวิญญาณ เพื่อเราจะสามารถเป็นเครื่องมือแห่งความดีของพระองค์ได้ ในโลกที่ต้องการพระองค์อย่างยิ่งนี้
เมื่อ “คุณลุง” เอโมรีของผมเสียชีวิต มีคำกล่าวไว้อาลัยมากมายในหลากหลายรูปแบบ แต่คำกล่าวเพื่อเป็นเกียรติเหล่านั้นมีใจความหลักที่เหมือนกันคือ ลุงเอโมรีแสดงความรักที่มีต่อพระเจ้าด้วยการรับใช้ผู้อื่น ไม่มีตอนไหนที่ชัดเจนไปกว่าในช่วงการรับราชการทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ท่านทำหน้าที่เป็นเสนารักษ์ หรือแพทย์สนามที่ออกไปยังสนามรบโดยไม่มีอาวุธ ท่านได้รับเหรียญกล้าหาญระดับสูง แต่ลุงเอโมรีเป็นที่จดจำมากที่สุดในการรับใช้ด้วยใจกรุณาของท่าน ทั้งในระหว่างสงครามและหลังสงคราม
ความเสียสละของเอโมรีคือภาพของการใช้ชีวิตเช่นที่เปาโลท้าทายชาวกาลาเทีย ท่านเขียนว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ที่ทรงเรียกท่านก็เพื่อให้มีเสรีภาพ อย่าเอาเสรีภาพของท่านเป็นช่องทางที่จะปล่อยตัวไปตามเนื้อหนัง แต่จงรับใช้กันและกันด้วยความรักเถิด” (กท.5:13) แต่จะทำได้อย่างไร ในสภาพที่แตกสลายของเรานั้น เรามักจะให้ความสำคัญกับตัวเองมาก่อนความสำคัญของผู้อื่น แล้วความไม่เห็นแก่ตัวที่ฝืนธรรมชาติเช่นนี้มาจากที่ใดกัน
ในฟีลิปปี 2:5 เปาโลได้ให้คำหนุนใจนี้ว่า “ท่านจงมีน้ำใจต่อกันเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์” เปาโลอธิบายถึงความเต็มใจของพระคริสต์ที่ต้องพบกับความตายบนไม้กางเขนเพราะความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อเรา เมื่อพระวิญญาณของพระองค์ทำให้เรามีจิตใจเหมือนอย่างพระคริสต์เท่านั้น จึงจะทำให้เราแตกต่างและสามารถเสียสละเพื่อผู้อื่น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเสียสละอันสูงสุดของพระเยซูเมื่อทรงมอบพระองค์เองให้กับเรา ขอให้เรายอมต่อการทำงานของพระวิญญาณในชีวิตของเรา
“ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน” โดโรธีพูดและเคาะส้นรองเท้าสีทับทิมของเธอ ในเรื่องพ่อมดแห่งออซ เพียงทำแค่นั้นก็สามารถพาโดโรธีและโตโต้ออกจากออซกลับสู่บ้านของพวกเขาที่แคนซัสได้อย่างมหัศจรรย์
แต่โชคร้ายที่ไม่มีรองเท้าสีทับทิมมากพอสำหรับทุกคน แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกคิดถึงบ้านเหมือนโดโรธี แต่การที่จะเจอบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งนั้นบางครั้งก็ยากจะเป็นไปได้
หนึ่งในผลของการใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วคือความรู้สึกแปลกแยก ความรู้สึกสงสัยว่าเราจะเจอที่ที่เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ ความรู้สึกนี้อาจจะสะท้อนความจริงที่ลึกลงไปที่กล่าวไว้โดย ซี. เอส. ลูอิสว่า “ถ้าผมมีความปรารถนาที่ประสบการณ์ในโลกนี้ไม่สามารถเติมเต็มให้ได้แล้ว คำอธิบายที่ดีที่สุดน่าจะเป็นเพราะผมถูกสร้างมาเพื่ออีกโลกหนึ่ง”
ในคืนก่อนจะไปที่ไม้กางเขน พระเยซูทรงย้ำกับสหายของพระองค์ถึงบ้านหลังนั้นว่า “ในพระนิเวศของพระบิดาเรามีที่อยู่เป็นอันมาก ถ้าไม่มีเราคงได้บอกท่านแล้ว เพราะเราไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับท่านทั้งหลาย” (ยน.14:2) คือบ้านที่เราจะได้รับการต้อนรับและเป็นที่รัก
แต่เราจะพบบ้านนั้นในเวลานี้ได้เช่นกัน เราเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวคริสตจักรของพระเจ้า และเรามีชีวิตในชุมชนร่วมกับพี่ชายและน้องสาวในพระคริสต์ เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสันติสุขและความเปรมปรีดิ์ของพระองค์ได้ จนกว่าจะถึงวันนั้นที่พระเยซูพาเราไปยังบ้านที่หัวใจของเราโหยหา เราอยู่ในบ้านกับพระองค์เสมอ
ในปีค.ศ. 1701 ศาสนจักรแห่งอังกฤษได้ก่อตั้งสมาคมเผยแพร่พระกิตติคุณเพื่อส่งมิชชันนารีไปทั่วโลก คำขวัญที่พวกเขาเลือกใช้คือ ทรานเซียนา ดิอู-วานอส (transiens adiuva nos) ซึ่งมาจากภาษาละติน แปลว่า “ขอโปรดมาช่วยเราด้วยเถิด!” นี่คือคำร้องขอที่มีต่อทูตแห่งข่าวประเสริฐมาตั้งแต่ศตวรรษแรก เมื่อผู้ติดตามพระเยซูนำคำสอนแห่งความรักและการให้อภัยของพระองค์ไปยังโลกที่ต้องการสิ่งเหล่านี้อย่างยิ่ง
“ขอโปรดมาช่วยเราด้วยเถิด!” เป็นวลีที่มาจาก “คำร้องขอของชาวมาซิโด-เนีย” ซึ่งปรากฏในกิจการ 16 เปาโลกับเพื่อนร่วมงานของท่านได้มาถึงเมืองโตรอัส ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี, ข้อ 8) ที่นั่น “เปาโลได้นิมิตเห็นชาวมาซิโดเนียคนหนึ่งยืนอ้อนวอนว่า ‘ขอโปรดมาช่วยพวกข้าพเจ้าในแคว้นมาซิโดเนียเถิด’” (ข้อ 9) เมื่อได้นิมิตแล้ว เปาโลกับเพื่อนร่วมงาน “จึงหาโอกาสทันทีที่จะไปยังแคว้นมาซิโดเนีย” (ข้อ 10) พวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของคำร้องขอนี้
ไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกเรียกให้ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปประกาศ แต่เราสามารถสนับสนุนพวกเขาทางด้านการเงินและด้วยคำอธิษฐานของเรา และเราทุกคนสามารถบอกใครสักคนถึงข่าวดีเรื่องพระเยซู ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่อีกฟากของห้อง ข้างถนน หรือในชุมชน ให้เราทูลขอพระเจ้าผู้ประเสริฐของเรา ที่จะทรงช่วยให้เราสามารถก้าวออกไปและมอบความช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแก่ผู้คน นั่นคือโอกาสที่จะได้รับการอภัยในพระนามของพระเยซู
สหราชอาณาจักรนั้นเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ ในทุกที่ที่ไปคุณจะเห็นแผ่นจารึกแสดงความเคารพบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์หรืออนุสรณ์สถานที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น แต่มีป้ายหนึ่งที่แสดงให้เห็นอารมณ์ขันแบบอังกฤษ บนแผ่นโลหะผุกร่อนด้านนอกสถานที่พักแรมแห่งหนึ่งในเมืองแซนวิช ประเทศอังกฤษ มีข้อความว่า “ณ ที่แห่งนี้ วันที่ 5 กันยายน 1782 ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
บางครั้งดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับคำอธิษฐานของเรา เราอธิษฐานแล้วอธิษฐานอีก นำคำวิงวอนทูลต่อพระบิดาโดยหวังว่าจะทรงตอบเดี๋ยวนี้ ดาวิดผู้เขียนเพลงสดุดีแสดงความผิดหวังเมื่อทูลอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า อีกนานเท่าใด พระองค์จะทรงลืมข้าพระองค์เสียเป็นนิตย์หรือ พระองค์จะเบือนพระพักตร์จากข้าพระองค์นานเท่าใด” (สดด.13:1) เราสะท้อนความรู้สึกเดียวกันนี้อย่างไม่ต้องสงสัย พระองค์เจ้าข้า นานแค่ไหนพระองค์จึงจะทรงตอบ
อย่างไรก็ตามพระเจ้าของเรานั้นทรงสมบูรณ์แบบไม่เพียงในพระปัญญาของพระองค์เท่านั้น แต่ในเวลาของพระองค์ด้วย ดาวิดจึงกล่าวได้ว่า “แต่ข้าพระองค์วางใจในความรักมั่นคงของพระองค์ จิตใจของข้าพระองค์จะเปรมปรีดิ์ในความรอดของพระองค์” (ข้อ 5) ปัญญาจารย์ 3:11 เตือนให้เราระลึกว่า “[พระเจ้า] ทรงกระทำให้สรรพสิ่งงดงามตามฤดูกาลของมัน” คำว่า งดงาม หมายถึง “เหมาะสม” หรือ “แหล่งแห่งความสุขใจ” พระเจ้าอาจไม่ทรงตอบคำอธิษฐานของเราทุกครั้งอย่างที่เราอยากให้พระองค์ตอบ แต่พระองค์ทรงทำตามพระประสงค์อันกอปรด้วยปัญญาของพระองค์เสมอ ขอให้เรามีกำลังใจเพราะเมื่อพระองค์ทรงตอบ สิ่งนั้นจะถูกต้อง เหมาะสมและงดงาม